The Lighthouse ภาพยนตร์ แนว ดราม่า ระทึกขวัญ ที่ถูกสร้างขึ้น และอ้างอิงจากเรื่องจริง ในช่วงยุด 1800 โดยเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาย 2 คน ที่ติดอยู่ในประภาคาร ที่มีพายุอย่างยาวนาน ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าดูเลยทีเดียว โดยหนังเรื่องนี้ได้ถูกนำกลับมาฉายอีกครั้ง ในปี 2021 นี้
ไม่น่าเชื่อว่า The Lighthouse จะเป็นเพียงผลงานหนังยาวเรื่องที่ 2 ของผู้กำกับ โรเบิร์ต เอ็กเกอร์ ผู้กำกับที่โด่งดังจากหนังเรื่องแรกในแนวเขย่าขวัญยุคใหม่อย่าง The VVitch: A New-England Folktale (2015) ซึ่งก็ทำให้เห็น ความมีของ ในตัวเอ็กเกอร์มาอย่างดี และในหนังเรื่องที่ 2 ของเขานี้มันก้ยังคงโดดเด่นจากสิ่งที่เขาเคยทำไว้ ทั้งโปรดักชันดีไซน์ที่เคร่งขรึมย้อนยุคแต่สวยงามมีความขลัง และปริศนาดำมืดที่น่าหวาดผวาสั่นประสาทตัวละครและผู้ชม
โดยในครั้งนี้เขานำเรื่องเล่าคลาสสิกของเหตุการณ์จริงในปี 1801 ที่ชื่อ โศกนาฏกรรมประภาคารหลังเล็ก (The Smalls Lighthouse Tragedy) เกี่ยวกับคนเฝ้าประภาคารชาวเวลส์ 2 คนที่ชื่อโธมัสเหมือนกันต้องติดอยู่ในประภาคารระหว่างพายุใหญ่โหมกระหน่ำยาวนาน และเมื่อชายคนหนึ่งเกิดตายอย่างสยดสยอง ชายอีกคนกลัวถูกกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรถ้าเอาศพโยนทะเล จึงจำใจต้องทนอยู่ทำงานโดยมีศพเพื่อนร่วมงานที่กำลังเน่าเปื่อยอยู่ไม่ไกล สภาวะกดดันและความอ้างว้างทำให้เขาแทบเป็นบ้า เหตุการณ์นี้ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านสื่อหลายครั้งที่ใกล้หน่อยก็มีละครวิทยุของช่อง BBC ในปี 2011 ฉบับหนังอังกฤษในปี 2016 ของ คริส โครว์ และผ่านวิสัยทัศน์ใหม่ในหนังฉบับนี้ของเอ็กเกอร์นี่เอง
ทั้งนี้ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดและเป็นความโดดเด่นในฉบับเอ็กเกอร์ คือการผสมผสานเรื่องราวดราม่าคลาสสิกทางทะเลจากนวนิยายอมตะของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) เจ้าของผลงาน Moby-Dick กับโรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน (Robert Louis Stevenson) เจ้าของผลงาน Treasure Island โดยมีเอกลักษณ์ของนิยายสยองขวัญเหนือธรรมชาติของ เอช. พี. เลิฟคราฟท์ (H. P. Lovecraft) และนิยายผีของ อัลเจอร์นอน แบล็กวูด (Algernon Blackwood) เป็นส่วนผสมในฝั่งของจิตวิปลาสด้วย เมื่อบวกด้วยฝีมือการกำกับและประสบการณ์ในการทำโปรดักชันดีไซน์ของเอ็กเกอร์ก็ทำให้ตัวหนังมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่ผู้ชมสัมผัสได้ตั้งแต่แว่บแรก
โดยเฉพาะงานด้านภาพที่แทบยกเทคนิคหนังยุคเก่าในสัดส่วนจอแบบเกือบจัตุรัส (1.19:1) แบบฟิล์มโบราณยุค 1888 ทั้งการใช้เลนส์วินเทจบาลตาร์ส (Baltars) และฟิลเตอร์ชไนเดอร์ (Schneider) ใส่กล้องฟิล์ม 35 mm ขาวดำ Double X (5222) แบบหนังยุคนั้น การถ่ายภาพเองก็ศึกษาการถ่ายแบบหนังยุคเก่าที่เน้นการถ่ายแบบขาตั้งกล้องนิ่งเหมือนละครเวที แล้วอาศัยการตัดต่อหลากมุมเพื่อให้ทันสมัยขึ้น จึงได้ความรู้สึกผสมผสานทั้งขลังแบบเก่าและความดุดันเร้าอารมณ์แบบหนังยุคใหม่ ซึ่งลงตัวอย่างมากกับตัวเนื้อหาย้อนยุคและอารมณ์ของหนัง
อีกส่วนที่โดดเด่นแบบรู้สึกมาก ๆ คือการแสดงแบบทุ่มสุดตัว ลึกสุดใจของ 2 นักแสดงนำอย่าง โรเบิร์ต แพตทินสัน และ วิลเลม เดโฟ ที่ฝั่งหนึ่งเป็นเด็กหนุ่มหน้าใหม่ที่มาทำงานครั้งแรก เป็นตัวแทนสายตาฝั่งผู้ชมที่เข้าไปสัมผัสประภาคารกลางทะเลห่างไกลผู้คน พร้อมบรรยากาศและเรื่องเล่าที่น่าหวาดระแวงและประสงค์ร้ายต่อสภาวะจิตใจ ทั้งการตายของคนดูแลคนก่อนหน้าที่เขามาทำงานแทน หุ่นแกะสลักตำนานนางเงือกที่มาเชื้อเชิญชายหนุ่มให้จมน้ำตาย คำสาปของนกทะเลที่บินวนเวียนอยู่รอบประภาคาร และพฤติกรรมประหลาดของรุ่นพี่ที่หลงใหลแสงประภาคารจนน่าสงสัย อีกฝั่งคือรุ่นพี่สุดเก๋าที่ชอบจ้ำจี้ มีความเห็นในทุกเรื่อง เจ้าอารมณ์ ขี้โกหกคำพูดกลับกลอกไปมา จนความจริงคลุมเครือชวนสับสน ปั่นหัวทั้งตัวละครหนุ่ม ทั้งตัวเอง และผู้ชม
“แกรู้มั้ยว่านี่ผ่านไปนานเท่าไหร่แล้ว (ภาพในหนังเหมือนผ่านมาแค่ 2 วัน) แกเป็นอะไรไปถึงบ้าคลั่งเอาขวานไล่ฆ่าฉัน (ภาพในหนังคือเป็นรุ่นพี่เอาขวานไล่ฆ่าชายหนุ่ม) หรือฉันอาจเป็นเพียงจินตนาการในหัวของแกเท่านั้นก็ได้”
ถ้าไปดูรายละเอียดเบื้องหลังการแสดงของทั้งคู่เราจะยิ่งทึ่งกับภาพที่ปรากฏบนจอเข้าไปอีก แต่ก็เป็นเรื่องควรรู้ก่อนไปรับชม เช่น ผู้กำกับเอ็กเกอร์เข้มงวดกับการพูดของตัวละครถึงขนาดสั่งเดโฟให้แสดงโดยพูดความเร็วเท่าไหร่ ในบทบรรทัดที่เท่าไหร่เลยทีเดียว ด้านเดโฟเองก็ไม่ยิ่งหย่อนเขาเลือกนอนในบ้านของชาวประมงใกล้กับสถานที่ถ่ายทำเพื่อซึมซับบรรยากาศของตัวละคร ส่วนแพตทินสันก็เลือกจะไม่พูดคุยกับใครระหว่างการถ่ายทำ กับเดโฟเองคนทั้งคู่ไม่ได้คุยเป็นการส่วนตัวเลยนับตั้งแต่ถ่ายทำจนหลังจากนั้นไปหลายเดือนทีเดียวเพื่อเก็บความเหินห่างของตัวละครไว้ตามบท และส่วนที่น่าทึ่งมาก ๆ คือการสะกดจิตตัวเองของทั้งคู่อย่างแพตทินสันเขาเลือกจะทานหยดน้ำฝนที่ร่วงผ่านหลังคาลงมาระหว่างคัตเพื่ออินกับบท และเดโฟก็ร่ายบทใส่อารมณ์กว่า 2 นาทีโดยที่ไม่กะพริบตาสักครั้งเดียว นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเข้มข้นที่นักแสดงทั้งสองคนต่างอัดใส่กันราวกับฆ่ากันได้ทีเดียว นั่นทำให้ภาพในหนังทรงพลังยิ่งขึ้นไปอีก
สรุป นี่เป็นหนังที่โพรดักชันน่าทึ่ง การแสดงน่าศึกษา เนื้อหามีความเข้มข้นเหนือจริงชวนสับสน และถ้ามองให้ลึกหนังก็มีการสะท้อนประเด็นที่ซ่อนไว้ให้คนค้นหาความหมาย ทั้งการแย่งชิงแสง ความหมายของความลุ่มหลงในนางเงือก ความผิดบาปและการลงโทษ ตลอดจนตัวตนและวัยที่ขัดแย้งกัน ประภาคารอาจเป็นสิ่งที่มากกว่าอาคารตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนด้วยนั่นเอง